ประจำเดือนของคุณปกติหรือเปล่า???
.............คุณเคยมีอาการอย่างนี้บ้างหรือไม่ ปวดประจำเดือนมาก มีอาการหนาวร้อน โลหิตจาง เลือดลมไม่ดี เจ็บชายโครง ประจำเดือนเป็นก้อนสีดำ บางคนมีน้อย ตกขาวมากและร้อนใน บางคนมาไม่แน่นอน มา ๆ หยุด ๆ หรือมาไม่ยอมหยุด จนทำให้อ่อนเพลีย หน้าซีด ตลอดจนเป็นไข้ทับฤดู (ประจำเดือนมาแล้วมีไข้ หนาว ๆ ร้อน ๆ)
............สาวคนไหนไม่มีทุกข์เรื่องเกี่ยวกับ ประจำเดือน จงภูมิใจได้ว่าชีวิตนี้โชคดีมาก เพราะยังมีสาวๆ อีกมากที่เป็นทุกข์รายเดือน บ้างมาน้อยไป มากไป มีแล้วหงุดหงิด เห็นอะไรขวางหูขวางตาไปหมด (เพราะระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงเป็นเหตุ) บางคนก็ปวดท้อง ตั้งแต่ปวดนิดหน่อยไปจนถึงปวดจนตัวโก่งตัวงอ บางคนถึงกับนอนซมทำงานไม่ได้เลยก็มี ไม่ว่าจะเป็นวันมามาก มาน้อย หรือไม่มาเลย หรือมีอาการปวดต่างๆ แถมให้ ระหว่างมีประจำเดือน ล้วนมีทั้งที่เป็นอาการปกติ และแบบที่ผิดปกติ คุณคงต้องลองสังเกตดูว่าแบบที่คุณเป็นนั้นเป็นแบบไหน อย่างไรกัน (ส่วนตัวข้าน้อยใช่เลย ฮือๆๆๆ เกิดมามีกรรมวุ้ย เป็นไข้ทับฤดูทุกเดือน)
ประจำเดือนขาดเกิดจากอะไร ???
สูตินรีแพทย์ได้จัดลำดับขั้นตอนของการขาดประจำเดือนนี้ไว้เป็น 2 ระดับ คือ
1. ระดับปฐมภูมิ (PrimaryAmenorrhea) คือการที่ไม่มีประจำเดือนมาเลย เมื่อถึงวัยแรกสาว โดยทั่วไปแพทย์จะถือว่าผิดปกติ ถ้าอายุ 14 ปีแล้วยังไม่มีพัฒนาการทางเพศ และไม่มีประจำเดือน หรือมีพัฒนาการทางเพศแล้ว เช่นมีหน้าอกแต่ไม่มีประจำเดือนเมื่ออายุ 16 ปีขึ้นไป
2. ระดับทุติยภูมิ (Secondary Amenorrhea) คือ การที่คุณเคยมีประจำเดือนเป็นปกติมาก่อน แต่อยู่ดีๆ ก็มีอันต้องขาดๆ หายๆ มาบ้างไม่มาบ้าง ติดต่อกันเป็นเวลาอย่างน้อย 3 รอบเดือน ซึ่งโดยปกติแล้วช่วงเวลาที่ผู้หญิงเราจะขาดประจำเดือนมีอยู่ 4 ช่วงด้วยกัน คือ
-ช่วงวัยแรกรุ่นหลังมีประจำเดือนใหม่ ๆ
-เมื่อคุณตั้งครรภ์
-เมื่ออยู่ในช่วงให้นมบุตร
-เมื่ออยู่ในช่วงวัยหมดประจำเดือน (เมโนพอส)
นอกจากนี้แล้วอาจจะเกิดจากสาเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งเหล่านี้
-การออกกำลังกายมาก หรือเหนื่อยเกินไป
-ความเครียด
-น้ำหนักตัวน้อยเกินไป
-มีอาการป่วยเรื้อรัง เช่น เบาหวาน
-มีระดับฮอร์โมนไม่สมดุล จากอาการผิดปกติต่างๆ เช่น มีซีสต์ในรังไข่
-อาการปวดท้องระหว่างมีประจำเดือน
............หากคุณเป็นอีกคนหนึ่งที่มักจะไม่สบายตัวเสมอเมื่อถึงวันนั้นของเดือน ก็คงไม่แปลกนักเพราะสาวๆ กว่าครึ่งค่อนโลกที่อยู่ในวัยมีประจำเดือน มักจะเกิดอาการปวดเนื้อเมื่อยตัว โดยเฉพาะปวดบริเวณท้องน้อย หรือเป็นตะคริว ซึ่งมักจะเป็นมากในช่วงวันแรกๆ หากโชคดีหน่อยอาจเป็นเพียง 1-2 วันก็หาย หรือปวดตลอดช่วงเวลามีประจำเดือนเลยก็มี บางคนยังมีอาการเกี่ยวเนื่องด้วย เช่น ปวดหัว คลื่นไส้ ท้องผูก ท้องร่วง บางครั้งอาจถึงกับอาเจียนได้ ตัวการสำคัญคือเจ้าฮอร์โมน Prostaglandins เป็นฮอร์โมนธรรมชาติที่ผลิตโดยเซลล์ในเยื่อบุมดลูก Prostaglandins นี้จะเป็นตัวที่คอยควบคุมและกระตุ้นมดลูกให้หดเกร็งระหว่างที่กำลังมีประจำเดือน หรือระหว่างคลอดบุตร การหดเกร็งของมดลูกทำให้เราเจ็บปวด และขณะที่กล้ามเนื้อมดลูกหดตัวจะกดเส้นเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก เนื้อเยื่อได้รับเลือดมาเลี้ยงไม่เพียงพอ จึงมีอาการปวดมากขึ้น อาการปวดประจำเดือนแบบนี้มี 2 ระดับเช่นกันคือ
1.ระดับปฐมภูมิ (PrimaryDysmenorrhea) อาการปวดที่เกิดจากการหดเกร็งตัวของมดลูก ปวดไม่มากแต่ชวนหงุดหงิด รำคาญตัว โดยฮอร์โมน Prostaglandins เป็นเหตุ ไม่มีสาเหตุร้ายแรงอื่นๆ แพทย์ว่าปวดเช่นนี้ถือเป็นปกติ ยกเว้นรายที่มีอาการปวดมากๆ อาจต้องให้ยาบรรเทาปวดช่วยด้วย
2.ระดับทุติยภูมิ (SecondaryDysmenorrhea) อาการปวดอีกระดับหนึ่งที่มักจะรุนแรงกว่าแบบแรก ซึ่งมักมีสาเหตุจากความผิดปกติทางสูตินรีเวชบางอย่าง เช่น เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ หรือ Endometriosis (เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด)
• ปีกมดลูกอักเสบ
• เนื้องอกในมดลูก
• คอมดลูกแคบ ทำให้เลือดประจำเดือนไหลไม่สะดวก
มีประจำเดือนออกมามากเกินไปหรือเปล่า??
บางคนเสียเลือดมากกว่า 80 มล.ต่อครั้ง ขณะที่ทั่วๆ ไปจะเสียเลือดเพียง 30-60 มล. ซึ่งจำเป็นต้องหาสาเหตุ ที่ทำให้เลือดประจำเดือนออกมากเกินไป ได้แก่
• ความไม่สมดุลของฮอร์โมนในร่างกาย
• เกิดมีเนื้องอก ที่กล้ามเนื้อมดลูกหรือคอมดลูก
• เยื่อบุมดลูกอักเสบ จากเชื้อแบคทีเรีย
• เกิดซีสต์ในรังไข่
• มีความผิดปกติเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์
นอกจากนี้คุณผู้หญิงที่มีน้ำหนักตัวมาก มีลูกมาแล้วหลายคน คนที่มักจะเครียด หดหู่ ซึมเศร้า สูบบุหรี่จัด หรือดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป ก็มีโอกาสที่ประจำเดือนของคุณจะมามากเกินปกติได้เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม หากพบว่าคุณมีเลือดออกมากเกินไป ควรปรึกษาสูตินรีแพทย์เพื่อให้วินิจฉัยอาการ รับคำแนะนำและการรักษาที่เหมาะสมจะดีที่สุด เพราะสาเหตุของความผิดปกติของประจำเดือนที่ต่างกัน ก็ต้องใช้การรักษาต่างๆ กันออกไป เมื่อพบสาเหตุก็ควรจัดการแต่เนิ่นๆ อย่ามัวรีรอหรือกลัวหมออยู่เลย และนอกจากนี้ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และออกกำลังกายเป็นประจำ ก็จะช่วยให้ท่านมีสุขภาพที่แข็งแรงได้
No comments:
Post a Comment