Tuesday, 26 January 2010

มุสาวาท ๗ วิธี

๑. ปด ได้แก่ การโกหกชัด ๆ ไม่รู้บอกว่ารู้ ไม่เห็นบอกว่าเห็น ไม่มีบอกว่ามี หรือรู้บอกว่าไม่รู้ เห็นบอกว่าไม่เห็น มีบอกว่าไม่มี ลักษณะนี้เรียกว่า พูดปด
๒. ทนสาบาน คือทนสาบานตัว เพื่อให้คนอื่นหลงเชื่อ การสาบานนั้นอาจมีการสาปแช่งด้วยหรือไม่ก็ตาม ชั้นที่สุดคนที่อยู่ด้วยกันมาก ๆ เช่นนักเรียนทั้งชั้น เมื่อมีผู้ทำความผิดแต่จับตัวผู้ทำผิดไม่ได้ ครูจึงเรียกประชุม แล้วก็ถามในที่ประชุมและสั่งว่า ใครเป็นผู้ทำความให้ยืนขึ้น แต่นักเรียนที่กระทำความผิดไม่ยอมยืนขึ้น ยังนั่งเฉยอยู่เหมือนกับคนที่เขาไม่ผิด ทำอย่างนี้ก็เป็นการมุสาด้วยการทนสาบาน เรียกว่า “ทนสาบาน”ก็ได้
๓. ทำเล่ห์กะเท่ ได้การอวดอ้างความศักดิ์สิทธิ์ เกินเหตุเกินความเป็นจริง เช่น อวดรู้วิชาอยู่ยงคงกระพันชาตรี ว่า ฟันไม่เข้า ยิงไม่ออก อวดวิชาเสน่ห์ยาแฝดว่าทำให้คนรักคนหลงได้ อวดความแม่นยำในการทำนายโชคชะตา อวดว่าวิเศษในการบอกใบ้ให้หวย ผู้อวดนั้นมักพร่ำแสดงเกินความจริงใจของตน ซึ่งเป็นการทำเล่ห์กะเท่ หรือทำเป็นเลศนัย ให้หลงเชื่อว่าเขามีความวิเศษ มีคุณวิเศษจริง
๔. มารยา การแสดงอาการหลอกคนอื่น เช่น เจ็บน้อยแกล้งทำเป็นเจ็บมาก ข้าราชการบางคนต้องการจะลาพักงาน ถ้าจะลาตรง ๆ เกรงผู้บังคับบัญชาไม่เห็นใจ จึงแกล้งทำหน้าตาแสดงว่ามีทุกข์ เช่นเอามือกุมขมับแสดงว่าปวดศีรษะ กุมท้องแสดงว่าปวดท้องมาก เด็กบางคนขี้เกียจไปโรงเรียน ลงทุนเอามือล้วงคออ้วกโอ้ก ๆ อ้าก ๆ แสดงว่าคลื่นไส้ ให้พ่อแม่ยินยอมผ่อนผัน เพื่อไม่ให้ไปโรงเรียน
๕. ทำเลศ คือใจอยากพูดเท็จ แต่ทำเป็นสำนวน พูดคลุม ๆ เครือ ๆ ให้ผู้ฟังคิดไปเอง เช่น คนอยู่อยุธยาเดินทางเข้ากรุงเทพ ฯ เพื่อนที่กรุงเทพฯ ถามว่า“ทางอยุธยาฝนตกไหม ?” “คุณนี่ถามได้ ! แดดออกเปรี้ยง ๆ ยังงี้ ยังถามหาฝนอีกหรือ” พูดอย่างนี้เรียกว่าทำเลศ จะตอบตรง ๆ ก็ไม่ตอบแต่แกล้งทำเลศ ให้คนฟังเข้าใจผิด
๖. เสริมความ เรื่องจริงมีน้อย พูดอยากให้คนฟังเห็นเป็นเรื่องใหญ่ จึงพูดประกอบกิริยาท่าทางให้เห็นเป็นเรื่องใหญ่โต เช่น เห็นไฟไหม้เศษกระดาษนิดเดียว ก็ตะโกนลั่นว่า “ไฟไหม้” พอคนอื่นได้ยินเสียงตะโกนเข้า เขาก็เข้าใจว่าเกิดไฟไหม้บ้านเรือนมากมาย อย่างนี้เรียกว่าเสริมความ ไม่พ้นศีลขาด แม้ว่ามูลเดิมจะมีอยู่จริงการโฆษณาขายสินค้าเกิดความจริง นอกจากเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคแล้ว ยังผิดศีลข้อนี้อีก พรรณนาคุณภาพเกิดความจริง ยาขนานเดียวแก้โรคได้สารพัด สรรพคุณแก้โรคได้ร้อยแปดพันเก้า ยิ่งยุคส่งเสริมการค้าเสรีอย่างปัจจุบันนี้ ยิ่งต้องระมัดระวังให้มากทั้งผู้บริโภค คือระวังจะโดนถูกหลอก ผู้โฆษณาระวังจะผิดศีล ในประเด็นของการเสริมความ
๗. อำความ อำความนี้ตรงกันข้ามกับข้อเสริมความ การเสริมความทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ ส่วนอำความทำเรื่องใหญ่ให้เล็ก ให้ความเข้มข้นลดปริมาณลงอย่างกรมการปกครอง พอมีเรื่องเกิดขึ้น มีผู้ก่อการร้ายสากลก่อวินาศกรรม มีกลุ่มโจรแยกดินแดน ก่อการร้ายปล้นสะดม ฆ่าครู ฆ่าตำรวจทหาร จำต้องรายงานต่อผู้ใหญ่ในกระทรวง เพราะถ้ารายงานตามความเป็นจริงเกรงจะถูกตำหนิว่าทำงานอ่อนแอ บกพร่องต่อหน้าที่ จึงรายงานให้เบาลง ลดความร้ายแรงลง ให้เห็นเป็นเรื่องเล็ก ๆน้อย ๆ โจรติดยาธรรมดา ทำไปเพราะต้องการเงินไปซื้อยาเสพติด ไม่มีอะไรมากศีลข้อนี้โดยความมุ่งหมาย เพื่อป้องกันการทำลายสิทธิประโยชน์ ของตนเองและผู้อื่น ด้วยการพูดเท็จ และให้รู้จักรักษาวาจาของตนให้เป็นที่เชื่อถือได้
พระพุทธศาสนาเน้นเสมอว่า เมื่อมีปากแล้ว พูดได้พูดไป หรือมิใช่สักแต่จะพูดไป ประเด็นสำคัญอยู่ที่วิธีการพูด การใช้คำพูดอย่างผู้ฉลาด เพราะคำพูดเป็นทั้งศาสตร์ และเป็นทั้งศิลป์ ตามที่โบราณท่านกล่าวไว้ว่า
“พูดดีก็เป็นศรีแก่ปาก พูดไม่ดีก็อัปรีย์กินปาก”
สอดคล้องกับกวีเอก ๔ แผ่นดินแห่งแดนสยาม ”สุนทรภู่” ท่านกล่าวไว้ว่า
“ถึงบางพูด พูดดีเป็นศรีศักดิ์ มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต หากพูดชั่วตัวตายทำลายมิตร จะชอบผิดในมนุษย์ เพราะพูดจา….”

No comments:

Post a Comment